About us

ความเป็นมา BACKGROUND

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกาศจัดตั้งโครงการที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาวิชาการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2540 เพื่อให้บริการในการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานสำหรับอาคารและโรงงาน ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน(ปัจจุบันเป็นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันเป็นกระทรวงพลังงาน) ให้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร ประเภท ข. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 รับเป็นที่ปรึกษาในการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานในอาคารควบคุมที่เป็นอาคารของรัฐ และเอกชน และเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2541 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน ประเภท ข. รับเป็นที่ปรึกษาในการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานในโรงงานทั่วประเทศ

เมื่อ 1 มกราคม 2543 มีประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อนุมัติให้โครงการที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งเป็น "สถาบันวิศวกรรมพลังงาน" ซึ่งที่มีการดำเนินงานในลักษณะพึ่งตนเอง และมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระจากระบบราชการ โดยมีสถานะเป็นสถาบันในสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นสถาบันต้นแบบของมหาวิทยาลัยในการบริการวิชาการด้านการจัดการและการอนุรักษ์พลังงานแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอง ตลอดจนหน่วยงานของภาครัฐ และเอกชน

ความเป็นมาสถาบันฯ INSTITUTE MILESTONE

1 มกราคม 2540 จัดตั้งโครงการที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงาน (ระยะเวลา 1 ปี)
สถานที่ตั้งโครงการ: ชั้น 4 อาคารวิจัยและปฏิบัติการ คณะวิศวกรรมศาสตร์
14 กุมภาพันธ์ 2540 ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร ทะเบียนเลขที่ ปพอ. 22
1 พฤษภาคม 2540 ย้ายที่ตั้งโครงการ: ชั้น 2 อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์
1 มกราคม 2541 - 31 ธันวาคม 2542 ขยายระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการออกไปอีก (ระยะเวลา 2 ปี)
19 มกราคม 2541
1 มีนาคม 2541 ย้ายที่ตั้งโครงการ: ชั้น 4 อาคารสถาบันค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรม
24 พฤศจิกายน 2542 ต่ออายุทะเบียนเป็นที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานในอาคา ร (ปพอ. 22)
1 มกราคม 2543 จัดตั้งสถาบันวิศวกรรมพลังงาน : สถาบันในสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีระบบบริหารและจัดการเป็นอิสระจากระบบราชการ
1 มกราคม 2543 ย้ายที่ตั้งโครงการ: ชั้น 1 อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
4 มกราคม 2543 ประกาศระเบียบว่าด้วยการบริหารสถาบันวิศวกรรมพลังงาน พ.ศ. 2542
8 กุมภาพันธ์ 2543 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการสถาบันวิศวกรรมพลังงาน
31 มีนาคม 2543 แต่งตั้ง รศ.ดร.ศิริกัลยา สุวจิตตานนท์ เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ (ระยะเวลา 4 ปี)
19 พฤษภาคม 2543 แต่งตั้งรองผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมพลังงาน
1 มกราคม 2548 แต่งตั้งผู้ช่วยผู้อำนวยการ 4 ฝ่าย
(ฝ่ายวิศวกรรม / ฝ่ายบริหาร / ฝ่ายบริการวิชาการ / ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ)
28 ตุลาคม 2548 ประกาศเป็นที่ปรึกษาเบ็ดเสร็จ (Energy Service Company : ESCO) อย่างเป็นทางการ

วัตถุประสงค์ OBJECTIVE

1. เพื่อให้บริการด้านการจัดการและการอนุรักษ์พลังงานแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนหน่วยงานของภาครัฐ เอกชน และชุมชนทั่วไป
2. เพื่อให้บริการด้านการศึกษาและการวิจัยด้านพลังงานและด้านอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีสะอาด สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญควบคู่กับวิชาการด้านการจัดการพลังงาน
3. เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. เพื่อสนับสนุนการศึกษาและวิจัยด้านวิศวกรรมพลังงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
5. เพื่อแนะแนวเชิงทัศนศึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานทั้งภายในและต่างประเทศ

นโยบาย POLICY

1. ส่งเสริมให้การดำเนินงานของสถาบันวิศวกรรมพลังงานเป็นไปให้มีประสิทธิภาพ และมีระบบการประกันคุณภาพ
2. ส่งเสริมการสอนระดับบัณฑิตศึกษาและการฝึกอบรมทางวิชาการ
3. สนับสนุนให้มีการบริการวิชาการแก่สังคมในสาขาวิศวกรรมพลังงาน
4. ส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อสร้างและพัฒนาความรู้ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม และสังคมโดยรวม
5. สนับสนุนความก้าวหน้าของบุคลากรในสาขางานต่างๆ ปรับปรุงให้มีภาระงานเหมาะสมกับจำนวนบุคลากรและความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน
6. พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป

ภารกิจหลัก

1. ให้บริการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานในอาคารและโรงงานทั่วประเทศ
2. ที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน
3. จัดหาแหล่งรายได้เพื่อสนับสนุนงานของสถาบันทั้งในรูปของโครงการพิเศษ และงานวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. จัดการฝึกอบรมทางวิชาการโดยทั่วไปให้แก่ภาคเอกชนและราชการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในวงการวิศวกรรมพลังงาน
5. ฝึกอบรมความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านในการอนุรักษ์พลังงาน

ภารกิจรอง

1. ให้บริการที่ปรึกษาเบ็ดเสร็จ (Energy Service Company)
2. ให้บริการที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสะอาด (Cleaner Technology Service)
3. ให้บริการที่ปรึกษาออกแบบระบบพลังงานทดแทน

วิสัยทัศน์ VISION

เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศระดับประเทศของสถาบันทางด้านวิศวกรรมพลังงาน ตลอดจนเป็นศูนย์รวมข้อมูลทางด้านการใช้พลังงานทั้งในอาคารควบคุม และโรงงานควบคุมเพื่อจัดทำเป็นดัชนีพลังงานของประเทศ อีกทั้งเป็นแหล่งผลิตผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการทางด้านพลังงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และเป็นศูนย์กลางสำหรับส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องให้เป็นที่ยอมรับแก่สังคม ทั้งนี้ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในการพัฒนาประเทศโดยเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญในการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพื่อสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบร่วมกันในการอนุรักษ์พลังงาน

เป้าหมายในอนาคตของสถาบันฯ นอกจากจะให้บริการการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น และโดยละเอียด ตลอดจนการเป็นตัวแทนดำเนินการแก่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ในโครงการเร่งด่วนสำหรับอาคารควบคุมของส่วนราชการ และเอกชน และการจัดการฝึกอบรมทางวิชาการทางด้านการอนุรักษ์พลังงานทั้งในอาคาร โรงงานอุตสาหกรรม และสาธารณชนทั่วไปนั้น สถาบันฯ มุ่งหวังที่จะส่งเสริมการบริการทางด้านวิชาการในการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งจัดหาแหล่งรายได้เพื่อสนับสนุนโครงการพิเศษ และงานวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย พร้อมกันนี้สถาบันฯ กำลังเตรียมที่จะนำระบบประกันคุณภาพมาใช้เพื่อทำให้เป็นสถาบันที่มีคุณภาพ และมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล

แผนงานของสถาบันฯ ตั้งแต่ปี 2543 - ปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานดังต่อไปนี้

1. ให้บริการการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้นและโดยละเอียดในโรงงาน และอาคารทั่วประเทศ
2. ให้บริการเป็นตัวแทนดำเนินการ (Implementing Agency, “IA”) แก่กระทรวงและทบวงต่างๆ ในการดำเนินการโครงการเร่งด่วน (Fast Track) ของหน่วยงานราชการที่ขาดผู้ชำนาญการด้านการอนุรักษ์พลังงานในการดูแลหน่วยงานของกระทรวงและทบวงนั้นๆ
3. จัดการฝึกอบรมทางวิชาการโดยทั่วไปให้แก่ภาคเอกชนและภาคราชการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในวงการวิศวกรรมพลังงาน
4. ส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาด้านพลังงานด้านการให้บริการทางวิชาการเพิ่มขึ้นทุกปี
5. จัดหาแหล่งรายได้ เพื่อสนับสนุนงานของสถาบันทั้งในรูปของโครงการพิเศษและงานทางวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
6. มีระบบการประกันคุณภาพที่เชื่อถือได้และพร้อมที่จะรับการประเมินจากภายนอก
7. ฝึกอบรมความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านในการอนุรักษ์พลังงาน
8. เป็นหน่วยงานนอกระบบราชการแห่งแรกที่ไม่พึ่งพางบประมาณแผ่นดิน