ปฏิรูปแผนพัฒนาพลังงาน

เนื่องด้วยประเทศไทย จำเป็นต้องมีการพัฒนาแผนงานด้านพลังงานของประเทศให้สอดคล้องและรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้และปีต่อๆไป ซึ่งมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดตามวัฏจักรวงรอบของเศรษฐกิจและปัจจัยที่เอื้ออำนวยการเจริญเติบโตทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ที่ทำให้บ้านเรามีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งในปีหน้า มีรัฐบาลชัดเจน การเมืองนิ่ง จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
พูดถึงแผนพัฒนาด้านพลังงานก็อยากจะยกตัวอย่างแผนพัฒนาพลังงานฉบับใหม่ของ ประเทศญี่ปุ่น มาเป็นตัวอย่าง มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วน การใช้พลังงานหมุนเวียน ผลิตกระแสไฟฟ้า ในขณะเดียวกันก็ย้ำถึงความสำคัญของ พลังงานนิวเคลียร์และถ่านหิน ในฐานะที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักที่ต้องรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย

 

ญี่ปุ่นประกาศใช้แผนพัฒนาพลังงานเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นฉบับที่ 5 ในแผนดังกล่าวได้กำหนดเป็นแผนระยะกลางและระยะยาวภายใต้นโยบายของรัฐบาล นายกฯชินโสะ อาเบะ หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องของสภาพอากาศก็ตาม โดยมีความจำเป็นต้องพัฒนาด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย เช่น แบตเตอรี่เก็บพลังงานและไฮโดรเจน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังประกาศชัดเจนว่า ยังต้องพึ่งถ่านหิน เป็นแหล่งพลังงานหลักอยู่ โดยที่มีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึงร้อยละ 80 ในปี 2593 ในช่วง 2 ปีนี้ ญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างน้อย 8 โรง และในแผนยังจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นมาอีก 36 โรงภายในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมาควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
นอกจากนี้ เมื่อปี 2557 รัฐบาลอาเบะ เคยประกาศสนับสนุนนำ พลังงานนิวเคลียร์ มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและให้สิ้นสุดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในปี 2582 เนื่องจากความกังวลของประชาชน อย่างไรก็ตาม ในแผนพัฒนาพลังงานฉบับใหม่ ญี่ปุ่นก็ยังให้ความสำคัญต่อพลังงานนิวเคลียร์เป็นอันดับต้นๆ แต่ได้มีการระบุว่าจะต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของประชาชนมาเป็นอันดับแรก และพยายามจะลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
สัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าของญี่ปุ่นไปจนถึงปี 2573 พลังงานนิวเคลียร์ จะอยู่ที่ร้อยละ 20–22 พลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ร้อยละ 22–24 และ ถ่านหิน จะอยู่ที่ร้อยละ 26 นอกนั้นจะเป็นพลังงานอื่นๆ
จะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นวางแผนพัฒนาพลังงานในหลากหลายรูปแบบ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งาน ต้นทุนการผลิตและการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือลดความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ
เพราะพลังงานคือชีวิตต้องคิดให้รอบคอบ.

Spread the word. Share this post!